มูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชน
มูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชน
ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เริ่มมีคณะอบรมเข้ามาอบรมพัฒนาจิตเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องขยายงานด้านต่างๆ เพื่อเตรียมรับการอบรมที่เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญในปีนี้คณะญาติธรรมที่ศรัทธาในพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และได้เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาศูนย์อย่างสม่ำเสมอได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นรูปแบบคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้ตั้งชื่อมูลนิธินี้ว่า “มูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชน” ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมหรือองค์การ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งมูลนิธินี้ได้มีบทบาทสำคัญในการเป็นพลังขับเคลื่อนศูนย์ปฏิบัติธรรมให้ดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
มูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชน ได้แต่งตั้งตัวแทนจากกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาศูนย์เลือกตั้งมาบริหารมูลนิธิตามวาระ และดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ที่มีมติร่วมกัน โดยสอดคล้องกับปณิธานของหลวงพ่อในการที่จะสร้างคน ฝึกฝนอบรมเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพด้วยการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน เจริญสติปัฎฐาน ๔
เมื่อมูลนิธิธรรมเพื่อเยาวชน ได้เกิดขึ้นแล้ว งานพัฒนาศูนย์ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ จึงดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ได้มีการก่อสร้างเพื่อเติมขึ้นมากมาย ดังนี้ จัดสร้างศาลาสุทธิญาณมงคล เพื่อรองรับคณะผู้ปฏิบัติธรรมที่เริ่มเข้ามาอบรมอย่างต่อเนื่อง ได้คราละ ๕๐๐ คน และเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ หลวงพ่อพระพุทธนิมิต , สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นอีก ๗ หลัง , ทำถนนลาดยางภายในศูนย์ , สร้างห้องน้ำเพิ่มอีก ๑๓ ห้อง , ปรับปรุงด้านโภชนาการ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการต่อเติมโรงอาหาร และสร้างบ้านพักคนทำครัว
พ.ศ. ๒๕๔๐ การพัฒนาศูนย์ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยในปีในี้ได้สร้างกุฎิหลวงพ่อ (หลังใหม่) ขึ้นอีกหนึ่งหลัง เพราะหลวงพ่อได้เดินทางมาที่ศูนย์บ่อยครั้งขึ้น และคณะศิษยานุศิษย์ต้องการให้ท่านเมื่อมาถึงศูนย์ฯ สามารถที่จะพักผ่อนได้บ้าง เพราะโดยปรกติท่านแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนเลย จึงจัดสร้างกุฎิที่จัดสัดส่วนเป็นส่วนตัว ห่างไกลจากเสียงรบกวนไว้เป็นที่พักของท่าน , นอกจากนั้นยังสร้างห้องน้ำเพิ่มเติม โดย สร้างไว้ในเขตสงฆ์ ๖ ห้อง และสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมอีก ๒๒ ห้อง , ดำเนินการเปลี่ยนแปลงไฟฟ้าจาก ๒ เฟต เป็น ๓ เฟต , สร้างเก๋งจีนเจ้าแม่กวนอิม และตกแต่งรอบบริเวณ , ทำลานคอนกรีต และปรับพื้นหน้าศาลาสุทธิญาณมงคล และลานจอดรถ , จัดซื้อและติดตั้งเครื่องเสียงและระบบโสตทัศน์นูปกรณ์อันทันสมัย เพื่อใช้ในการอบรม และก่อสร้างกำแพงด้านทิศตะวันออกของศูนย์
พ.ศ. ๒๔๕๑ ก่อสร้างอาคารซ่อมบำรุง เพื่อเป็นที่เก็บวัสดุ จัดสร้าง และบำรุงรักษาวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องยนต์ภายในศูนย์ , และสร้างห้องน้ำบริเวณหน้ากุฎิหลวงพ่อหลังใหม่ ขึ้นอีก ๖ ห้อง
พ.ศ. ๒๕๔๒ ก่อสร้างศาลาเพื่อการเกษตร (ศาลาทันใจ) เพื่อสนับสนุนโครงการธรรมเกษตรยั่งยืน และโครงการปลูกป่าของศูนย์ , ก่อสร้างอาคารลงทะเบียนผู้ปฏิบัติธรรม-ห้องสหการณ์ เพื่อใช้เป็นที่ติดต่อสอบถามลงทะเบียน และซื้อสิ่งของที่จำเป็น
พ.ศ. ๒๕๔๓ ต่อเติมอาคารที่พักสงฆ์ศาลาพระพุทธชินราช , สร้างโรงซักล้างและตากผ้า , สร้างห้องเตรียมอาหาร ,ต่อเติมห้องเก็บของเก็บหนังสือ
พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อรองรับผู้ปฏิบัติธรรมที่เพิ่มมากขึ้น ในปีนี้จึงได้ทำการขยับขยายอาคารต่างๆ ดังนี้ได้ขยายศาลาปฏิบัติธรรมหลังเล็ก ให้สามารถรับผู้อบรมได้ครั้งละ ๒๕๐–๓๐๐ คน , ต่อเติมโรงอาหาร , ปรับปรุงโรงครัวให้มีความสะอาด สวยงาม ทันสมัย
และในปัจจุบันนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างกุฎิหลวงพ่อ เป็นกุฎิเก่าแก่หลังเดิมที่อยู่ ณ วัดอัมพวัน เป็นกุฎิที่หลวงพ่ออยู่จำพรรษามากว่า ๔๐ ปี แต่ต่อมาเนื่องจากตัวกุฎิได้ชำรุดไปเพราะความเก่า และอุบัติภัย จากเหตุการณ์ไฟไหม้บางส่วน พระเดชพระคุณหลวงพ่อจึงได้เมตตาต่อญาติธรรมชาวขอนแก่น ให้รื้อและนำมาสร้างใหม่ไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน
อีกโครงการที่เป็นการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหญ่ คือ “ศาลา ๗๒ ปี หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมโม” เป็นศาลาที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง เพื่อรองรับคณะผู้อบรมที่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
ญาติธรรมทุกท่านคงได้เห็นแล้วว่า หลวงพ่อได้คืนของดีให้กับชาวขอนแก่นไว้อย่างมากมาย โดยการสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จังหวัดขอนแก่นไว้เป็นสาขาของของวัดอัมพวัน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวให้ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรม รับของดีจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เพื่อสร้างกุศลผลบุญให้กับตัวเอง นำความสุขความเจริญให้กับตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติบ้านเมือง
บัดนี้ศูนย์ปฏิบัติสวนเวฬุวันของทุกท่าน กำลังเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง กำลังขยายหน่อแห่งความดีออกไปปกคลุมทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น ขยายกิ่งก้านสาขาแห่งความดีออกไปปกคลุมพื้นที่ทั่วภาคอีสาน ปกคลุมขจรขจายชื่อเสียงออกไปถึงประเทศลาว ถึงทั่วทุกภาคของประเทศไทย และคงถึงต่างประเทศต่อไปในอนาคตกรุณาใส่ข้อความ …